รีวิวเครื่องเสียง Line Magnetic รุ่น LM-805IA อินติเกรตแอมป์หลอด Pure Class-A ซิงเกิ้ลเอ็นด์

 – by ธานี โหมดสง่า

Line Magnetic” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2005 โดยสองพี่น้องชาวจีนที่ลุ่มหลงเครื่องเสียงไฮเอ็นด์ฯ อย่างหนัก พวกเขาเปิดให้บริการซ่อมและสร้างเครื่องเสียงกับลำโพงที่มีชื่อเสียงในอดีตประเภทแอมป์หลอดและลำโพงฮอร์นที่เคยโด่งดังระดับตำนาน ซึ่งเครื่องเสียงที่พวกเขาหลงไหลเป็นพิเศษก็คือแอมป์หลอดแบรนด์อเมริกายุคแรกๆ ของวงการมาตั้งแต่ยุค ’50 อย่าง Western Electric กับลำโพงฮอร์นยุคเก่าอย่าง AltecJensen และอีกมาก

แค่ชอบ และก็อปปี้เครื่องดังๆ ในอดีต เหมือนกับไม่มีไอเดียเป็นของตัวเอง มันจะดีเหรอ.? แบรนด์ที่มิสเตอร์ Zheng Cai ผู้ให้กำเนิดแบรนด์นี้หลงไหลก็คือ Western Electric ซึ่งเป็นเสมือนปรมาจารย์ตั้กม้อของวงการแอมป์หลอดโลก นักเล่นฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันต่างก็ให้การยอมรับคุณภาพเสียงของแอมป์หลอดแบรนด์ WE กันทั่วโลก ซึ่งคุณ Zheng Cai แกรับซ่อมแอมป์ยี่ห้อนี้มาตั้งแต่แรก และยังเน้นให้บริการซ่อมผลิตภัณฑ์ไฮไฟฯ เฉพาะแบรนด์ดังๆ ในอดีตแบรนด์อื่นๆ ด้วย นั่นถือเป็นการ “เรียนลัด” ของเขา และเมื่อจับๆ ซ่อมๆ มาจนชำนาญ แบรนด์ Line Magnetic ที่เขาให้กำเนิดขึ้นมาในปี 2005 คือผลที่ได้จากความรู้+ความชำนาญที่เขาสั่งสมมานั่นเอง

Line Magnetic : LM-805IA
อินติเกรตแอมป์หลอดซิงเกิ้ลเอ็นด์ 48 วัตต์ต่อข้าง.!

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ Line Magnetic มีอยู่มากมาย หลักๆ ก็คือแอมปลิฟาย รองลงไปก็คือลำโพง ส่วนเครื่องเล่นซีดีก็มีแต่ไม่เยอะรุ่น

A = ไฟแสดงสถานะเปิดใช้งาน และ mute
B = ปุ่ม power สำหรับเปิด/ปิดไฟเข้าเครื่อง
C = มิเตอร์ VU แสดงปริมาณกำลังขับของแอมป์ แยกสำหรับข้างซ้าย/ขวา
D = สวิทช์โยกเพื่อเปิด/ปิดไฟที่มิเตอร์ VU
E = ช่องรับคลื่นวิทยุจากรีโมทไร้สาย
= สวิทช์โยกเพื่อเปลี่ยนการแสดงสถานะของมิเตอร์ VU ระหว่างแสดงกำลังขับของแอมป์แบบ real-time กับแสดงปริมาณกระแสไฟของหลอดเอ๊าต์พุต ใช้มอนิเตอร์ขณะปรับไบอัสหลอดเอ๊าต์พุต
G = สวิทช์เลือกอินพุต
H = ปุ่มหมุนปรับระดับวอลลุ่ม

LM-805IA ที่ผมได้รับมาทดสอบครั้งนี้เป็นอินติเกรตแอมป์หลอดที่ออกแบบวงจรขยายเป็นแบบ Pure Class-A โดยใช้หลอดซิงเกิ้ลเอ็นด์ ไทรโอดเบอร์ 805 เป็นหลอดขยายสัญญาณข้างละหนึ่งหลอด ให้กำลังขับข้างละ 48 วัตต์ หน้าตาของ LM-805IA ออกมาในแนวมาตรฐานแอมป์หลอดยุคดั้งเดิมทุกกระเบียดนิ้ว ตัวถังทำด้วยอะลูมิเนียม เคลือบด้วยสีดำเงาแบบเปียโน หลอดทั้งหมดถูกติดตั้งอยู่ด้านบนของตัวถังเยื้องมาทางด้านหน้า โดยมีทรานสฟอร์เมอร์ขนาดใหญ่ในตัวถังโลหะสี่เหลี่ยมสีดำจำนวน 3 ลูกวางเรียงกันอยู่ด้านหลังของจุดติดตั้งหลอด ปุ่มควบคุมการสั่งงานทั้งหมดติดตั้งอยู่บนแผงหน้าที่ลดระดับลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับของหลอด

แอมป์ตัวนี้ใช้วิธีเปิด/ปิดการทำงานของตัวเครื่องด้วยการกดปุ่ม power (B) ที่ติดตั้งอยู่บนแผงหน้าปัดด้านหน้าในตำแหน่งซ้ายมือสุด (มองตรงเข้าหาหน้าปัดของเครื่อง) ซึ่งเป็นปุ่มโลหะสีบรอนซ์เงินขนาดค่อนข้างใหญ่ หลังจากกดปุ่ม power ลงไปแล้ว หลอดทุกหลอดบนตัวเครื่องจะสว่างเรืองขึ้นมา พร้อมๆ กับไฟ LED สีส้มดวงเล็กๆ ที่ฝังอยู่บนขอบปุ่มวอลลุ่ม (A) จะสว่างขึ้นมาและกระพริบช้าๆ ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงถึงสภาวะ warm up ของเครื่องเพื่อรอปริมาณกระแสไฟเลี้ยงไส้หลอดให้ถึงระดับและคงที่ก่อนเริ่มจะทำงาน ซึ่งขั้นตอนวอร์มอัพของแอมป์ตัวนี้จะใช้เวลาประมาณ 30 วินาที ระหว่างที่ไฟตรงตำแหน่ง กระพริบ เอ๊าต์พุตของภาคขยายจะถูก mute ไม่ให้มีเสียงออก หลังจากเลยเวลา 30 วินาทีซึ่งเท่ากับหมดขั้นตอนวอร์มอัพแล้ว ไฟสีส้มบนปุ่มวอลลุ่มจะหยุดกระพริบ และมีเสียงแต๊กๆ ของรีเลย์ดังอยู่ในตัวเครื่องเบาๆ แสดงถึงสถานะพร้อมทำงานของเครื่อง เอ๊าต์พุตถูกเชื่อมต่อเข้ากับภาคขยายพร้อมสำหรับการขยายสัญญาณแล้ว

มิเตอร์ VU ทั้งสองตัวที่อยู่บนแผงหน้าปัดถูกออกแบบมาให้ทำหน้าที่ 2 อย่าง ระหว่างแสดงระดับของกำลังขับที่จ่ายออกไปขณะเล่นเพลง ซึ่งเป็นการแสดงผลแบบเรียลไทม์ กับแสดงปริมาณกระแสไฟเลี้ยงหลอดเพาเวอร์ขณะที่ผู้ใช้ทำการปรับกระแสไบอัสของหลอดเพาเวอร์ ผู้ใช้สามารถเลือกหน้าที่ในการแสดงผลของมิเตอร์ VU สองตัวนี้ได้ด้วยการโยกสวิทช์บนหน้าปัด (F) ในขณะเล่นเพลง ถ้าเปิดมิเตอร์ VU เอาไว้และเลือกให้มันแสดงปริมาณกำลังขับที่ถูกใช้ออกไปแบบต่อเนื่องตามสัญญาณเพลง เข็มบนมิเตอร์ VU ทั้งสองข้างจะสวิงเคลื่อนไหวตลอดเวลาตามสถานะของสัญญาณเพลง ดูคลาสสิกดี ให้อารมณ์ของแอมป์หลอดสมัยโบราณ แต่ถ้าคุณไม่ชอบนั่งมองเข็มส่ายไปส่ายมา ก็สามารถปิดไฟสีส้มของจอมิเตอร์ทั้งสองได้โดยสับสวิทช์ (D) บนหน้าปัดขึ้นไปด้านบน

การปรับไบอัสหลอด

คนที่ใช้แอมป์หลอดคงทราบดีว่าการปรับไบอัส (bias adjust) เป็นกิจกรรมที่สำคัญเพราะมีผลต่อคุณภาพเสียงของแอมป์หลอดตัวนั้นมาก แต่ผู้ใช้ที่ไม่คุ้นเคยอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก สำหรับแอมป์ Line Magnetic ตัวนี้ผู้ผลิตแจ้งว่าหลังจากยกออกมาจากกล่องครั้งแรกไม่ต้องปรับไบอัส เขาปรับตั้งมาให้จากโรงงานแล้ว ใช้ได้เลย แต่หลังจากใช้งานไปนานสักระยะหนึ่ง ถ้ารู้สึกว่าเสียงมันขาดไดนามิก เวทีเสียงไม่เปิดกว้าง ให้ทำการปรับไบอัสให้อยู่ในช่วง 120mA (ร้อยยี่สิบมิลลิแอมป์) โดยใช้ไขควงขนาดเล็กขันน็อตตรงช่อง O สำหรับหลอดเพาเวอร์ 805 ข้างซ้าย และปรับในช่อง Q สำหรับหลอดเพาเวอร์ 805 ข้างขวา ส่วนช่อง N กับช่อง P นั้นมีไว้ให้ปรับลดเสียงฮัมของหม้อแปลง

ส่วนสวิทช์หมุนตัวสีดำที่ตำแหน่ง R นั้นมีไว้ให้ปรับปริมาณ Negative Feebdback ซึ่งมีให้เลือกทั้งหมด ระดับ ขณะปรับเลือกแนะนำให้ปิดเครื่องก่อน หลังจากกดสวิทช์ปิดเครื่องรอสัก 1-2 นาทีจึงค่อยเลื่อนสวิทช์เลือกระดับ Negative Feedback แล้วค่อยเปิดเครื่องฟัง

ในขั้นตอนทดสอบตอนที่ใช้ LM-805IA ขับลำโพง Wilson Audio รุ่น Sabrina X ผมได้ทดลองใช้ฟังท์ชั่น NFB แล้วลองฟังผลของมันด้วย ปรากฏว่ายิ่งปรับใช้ NFB ที่ระดับสูงขึ้น เสียงจะกระชับเพิ่มขึ้น เบสจะยิ่งน้อยลง ผมพบว่า เมื่อเลือกใช้ NFB ที่ระดับ 2 จะได้โฟกัสของเสียงในย่านกลาง–แหลมที่ดีขึ้น อาการเบลอฟุ้งลดลง เบสต้นๆ กระชับเป็นตัวมากขึ้น แต่เบสลึกๆ จะแย่ลง มัวและแบนลง ฟังรวมๆ แล้วไม่ถึงกับแย่ ยังอยู่ในระดับยอมรับได้ เทียบกับตั้งไว้ที่ NFB ‘1’ ถือว่าดีกันไปคนละแบบ

ประโยชน์ของฟังท์ชั่น NFB ที่แอมป์ตัวนี้ให้มาน่าจะเหมาะใช้กับลำโพงที่ใช้ไดเวอร์เบส (วูฟเฟอร์) ที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งแด้มปิ้งของแอมป์ไม่พอควบคุมไดอะแฟรมให้หยุดได้ตามสัญญาณ เมื่อเลือกใช้ NFB ที่มีค่าสูงขึ้น จะช่วยแก้ปัญหานั่นได้ ซึ่งก็แล้วแต่กรณี ต้องลองใช้แล้วฟังดู

อินพุต + เอ๊าต์พุต

LM-805IA เป็นแอมป์หลอดแบบ ‘pure analog’ คือมีแต่อินพุตอะนาลอกผ่านขั้วต่อ RCA มาให้ทั้งหมด 3 ช่อง (J) ตั้งชื่อว่า Line 1Line 2Line 3 ไม่มีภาคโฟโนและไม่มีช่องดิจิตัล อินพุตมาให้ แต่มีช่องอินพุตสำหรับปรีแอมป์จากภายนอกมาให้ 1 ช่องตั้งชื่อว่าช่อง ‘PRE IN’ สำหรับคนที่ต้องการนำ LM-805IA ไปใช้ในชุดโฮมเธียเตอร์ ซึ่งขั้วต่อ RCA ที่ให้มาดูดีมาก ทั้งสวยและแข็งแรง จัดวางช่องไฟระหว่างขั้วซ้ายและขวาไว้ห่างกันพอสมควร ใช้กับสายสัญญาณที่ติดหัวแจ๊คใหญ่ๆ ได้ไม่มีปัญหาหัวแจ๊คเบียดกัน

ขั้วต่อสายลำโพงแยกมาให้สองชุดสำหรับแชนเนลขวา (K) และแชนเนลซ้าย (L) และในแต่ละแชนเนลมีขั้วต่อมาให้ ตัว แยกสำหรับอิมพีแดนซ์ที่ต่างกัน 3 ค่า คือ 48 และ 16 โอห์ม ขั้วต่อที่ให้มาก็ดูแข็งแรงดี ส่วนขั้วต่อสายไฟเอซี (M) ให้มาเป็นแบบสามขาแยกกราวนด์

รีโมทไร้สายที่แถมมาให้ชื่อรุ่น LM-02 บอดี้ทำด้วยโลหะอะลูมิเนียมปัดเสี้ยนแล้วอะโนไดร์ด้วยสีดำ ใช้ได้แค่ปรับระดับวอลลุ่มกับสั่ง mute ได้เท่านั้น

ดีไซน์

LM-805IA ใช้หลอดซิงเกิ้ลเอ็นด์ ไทรโอดเบอร์ 805 ใหญ่โตประมาณแขน เป็นหลอดของยี่ห้อ ‘Audio Special’ ทำหน้าที่ขยายสัญญาณเอ๊าต์พุต โดยจัดวงจรขยายแบบ pure class-A ให้กำลังขับข้างละ 48 วัตต์ โดยใช้หลอดเบอร์ 300B ยี่ห้อ Audio Special แบรนด์เดียวกับหลอดเอ๊าต์พุตทำหน้าที่เป็นภาคไดร้

หลอดเบอร์ 6SL7 ไม่มียี่ห้อกำกับมา

ส่วนภาคอินพุตใช้หลอดเบอร์ 6SL7 หนึ่งหลอด กับหลอดเบอร์ 6SN7 สองหลอด ยี่ห้อ Electro Harmonix ของรัสเซียแยกสำหรับสัญญาณแชนเนลซ้ายและขวาข้างละหลอด การเชื่อมต่อสัญญาณของแต่ละจุดภายในใช้วิธีเดินสายตรง point-to-point wiring ด้วยมือ วอลลุ่มใช้ของ ALPS และใช้คาปาซิเตอร์ของ RealCap เอ๊าต์พุตทรานสฟอร์เมอร์สำหรับเอ๊าต์พุตเป็นแบบแกน EI ที่ออกแบบและพันขึ้นมาเป็นพิเศษของเขาเอง ให้แบนด์วิธที่เปิดกว้าง

ทดสอบ

ผมมีโอกาสใช้ LM-805IA ลองขับลำโพง คู่ ในการทดลองฟังในห้องฟังใหม่ของผม เป็นลำโพงวางขาตั้งสองคู่และตั้งพื้นอีกหนึ่งคู่ คู่แรกคือ Totem Acoustic รุ่น The One คู่ที่สองยี่ห้อ Wharfedale รุ่น Elysian 2 (REVIEW) ส่วนคู่ที่สามคือ Wilson Audio รุ่น Sabrina X ซึ่งลำโพงทั้งสามคู่นี้มีอิมพีแดนซ์อยู่ที่ โอห์มทั้งหมด

ความไวของลำโพงทั้งสามคู่อยู่ที่ 87dB (Sabrina X กับ The One) และ 89dB (Elysian 2) ความถี่ตอบสนองต่ำสุดคือ 31Hz (Sabrina X) ส่วนความถี่สูงสุดอยู่ที่ 23kHz (Sabrina X) ซึ่งลำโพงคู่หลักที่ผมใช้ทดสอบสมรรถนะของแอมป์ตัวนี้ก็คือ The One เพราะจากการทดลองเบื้องต้นพบว่า LM-805IA สามารถขับ The One ออกมาได้เต็มที่มากที่สุดในจำนวนลำโพงทั้งสามคู่นี้ ส่วน Elysian 2 กับ Sabrina X ผมทดลองฟังแค่ช่วงสั้นๆ เพื่อพิสูจน์สมรรถนะของ LM-805IA ตัวนี้ว่าจะพุ่งไปได้ไกลแค่ไหน

ขับลำโพง Totem Acoustic รุ่น The One

ขับลำโพง Wharfedale รุ่น Elysian 2

ขับลำโพง Wilson Audio รุ่น Sabrina X

เสียงของ Line Magnetic : LM-805IA

ผลการทดลองฟังพอจะได้บทสรุปที่ตั้งเป็นข้อสังเกตได้อย่างหนึ่ง นั่นคือ กำลังขับที่ระบุไว้ 48 วัตต์/ข้าง ของแอมป์หลอดตัวนี้มันมากกว่าที่ผมคาดไว้เยอะ! เพราะจากการทดลองฟังผมพบว่า LM-805IA สามารถขับดัน The One กับ Elysian 2 ออกมาได้เต็มห้อง สวิงไดนามิกออกมาได้เต็มสเกลตามปริมาณวอลลุ่มที่อัดเข้าไปโดยไม่มีอาการป้อแป้ แม้จะเจอกับโหลดที่ต่ำแค่ 4 โอห์มก็ตาม

ตอนขับ The One ผมไม่ติในทุกด้านที่ LM-805IA ให้ออกมา มันทำได้ดีมากในทุกส่วน ส่วนตอนลองขับ Elysian 2 กับ Sabrina X ผมพบว่า กลาง–แหลมที่ออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ถือว่าดีเกินคาดซะด้วยซ้ำ ทว่าในย่านต่ำยังทำได้ไม่ดีนัก ตั้งแต่ทุ้มตอนกลางๆ ลงไปถึงทุ้มลึกๆ จะมีอาการหลวมๆ อยู่บ้าง เข้าใจว่าแด้มปลิ้งของแอมป์น่าจะหยุดไดอะแฟรมขนาด 8 นิ้วของ Elysian 2 ได้ไม่นิ่งสนิทจริงๆ ผมทดลองปรับ NFB ของแอมป์ไปที่ระดับ 2 พบว่าความกระชับดีขึ้น แต่แอมเบี้ยนต์น้อยลง ส่งผลให้ความฉ่ำของบรรยากาศด้อยลงกว่าตอนใช้ NFB ระดับ 1 ซึ่งผลการทดลองขับลำโพง Elysian 2 กับ Sabrina X ผมอยากจะสรุปว่า พอขับได้แต่ไม่ดีมาก ดังนั้น ในขั้นตอนสุดท้ายของการลองฟังเพื่อสรุปผลทางเสียงของ LM-805IA ผมเลือกใช้ Totem Acoustic รุ่น The One เป็นลำโพงมอนิเตอร์ในการทดสอบแอมป์ตัวนี้

ขณะทดสอบฟังเสียง ผมได้ทดลองดันสวิทช์ปิดไฟที่มิเตอร์ VU ดูด้วย ปรากฏว่า ปิดไฟแล้วเสียงดีขึ้น เป็นตัวตนมากขึ้นพร้อมทั้งปลายเสียงแหลมก็สะอาดขึ้นด้วย ถ้าต้องการฟังแบบเน้นคุณภาพเสียงจริงๆ แนะนำให้ปิดไฟมิเตอร์ VU ด้วย

อัลบั้ม : The Greatest Female Alto (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Shen Dan
สังกัด : Tuya

ลำโพง Totem Acoustic รุ่น The One หรือโมเดล วันทุกเวอร์ชั่นเป็นลำโพงที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะใช้เป็นมอนิเตอร์ในการทดสอบแอมปลิฟายในแง่สมรรถนะของ “กำลังขับ” อย่างยิ่ง เพราะถ้าเจอกับแอมป์ฯ ที่ขับไม่ออก ลำโพงโทเท็มรุ่นนี้จะฟ้องทันที ด้วยการให้เสียงออกมาจัดจ้าน แห้งแล้งไม่น่าฟัง ต้องเจอกับแอมป์ที่มีสมรรถนะถึงจริงๆ ถึงจะได้สัมผัสกับเสียงที่น่ามหัศจรรย์ของลำโพงรุ่นนี้

ในอัลบั้มนี้ผมมีเพลงที่ใช้ทดสอบสมรรถนะทางด้านกำลังขับของแอมป์ที่ดีมากอยู่แทรคหนึ่ง นั่นคือเพลง ‘Alilang’ แทรคที่สอง ซึ่ง LM-805IA สามารถสอบผ่านแทรคนี้ไปได้อย่างน่าชื่นชม พิสูจน์ได้จากการทดลองขับลำโพง The One ซึ่งให้สนามเสียงที่แผ่กระจายออกไปรอบๆ อาณาเขตที่วางลำโพง ทั้งชิ้นดนตรีและเสียงร้องทุกชิ้นหลุดตู้กระเด็นออกไปลอยตัวอยู่ในอากาศอย่างชัดเจน กระจายเกลื่อนไปทั่วทั้งห้อง และทีเด็ดจากแทรคนี้ที่ LM-805IA ทำให้ผมทึ่งเริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่วินาทีแรกถึงวินาทีที่สิบสาม เป็นช่วงอินโทรที่มีแต่เสียงร้องประสานของนักร้องชาย–หญิงจำนวนหนึ่งโดยไม่มีเสียงเครื่องดนตรีอื่นเข้ามายุ่ง ซึ่ง LM-805IA สามารถแจกแจงเสียงประสานเหล่านั้นออกมาให้รู้ว่าเป็นเสียงของนักร้องหญิงและชายผสมกัน และมีเสียงผู้ชายร้องคีย์ต่ำอยู่ในนั้นด้วย ผมสามารถแกะคำร้องออกมาได้ชัด ไม่ปนกันออกมาจนมั่ว

อีกช่วงที่เป็นไฮไล้ท์ของเพลงนี้ และใช้ตรวจวัดสมรรถนะของแอมป์ได้เป็นอย่างดี นั่นคือช่วงนาทีที่ 15 ถึงนาทีที่ 26 ซึ่งเป็นช่วงต่อจากท่อนแรก เป็นเสียงกลองจีนที่หวดตูมขึ้นมาตรงกลางด้านหลังของเวทีเสียง ซึ่ง LM-805IA ให้โฟกัสของเสียงกลองจีนที่คม กระชับ และมีน้ำหนัก จากนั้นก็มีเสียงเพอร์คัสชั่นโลหะกระจายตัวออกมารับลูกต่อช่วงจากเสียงกลอง ซึ่งแอมป์หลอดตัวนี้ก็สามารถดันเสียงเพอร์คัสชั่นเหล่านั้นให้ลอยออกมาอยู่ด้านหน้าของเสียงกลองจีนได้อย่างน่าทึ่ง กอปรเป็นสนามเสียงที่มีทั้งความกว้างและลึก มีเลเยอร์ที่ซ้อนกันเป็นชั้นๆ จากแถวหน้าไล่ไปถึงด้านหลัง ผลประจักษ์ทางเสียงเหล่านี้ได้ช่วยยืนยันให้รู้ว่า LM-805IA มีประสิทธิภาพสูงพอในการควบคุมและขับดันไดอะแฟรมของ Totem Acoustic : The One ออกมาได้อย่างเต็มที่

อัลบั้ม : Warm Your Heart (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Aaron Neville
สังกัด : A&M Records

คนที่คุ้นเคยและคลุกคลีกับแอมป์หลอดมานานจะรู้ดีว่า หลอดเพาเวอร์เบอร์ 805 กับเบอร์ 300B มีชื่อเสียงมากในแง่ของการถ่ายทอดเสียงกลางที่เยี่ยมยอด โดยเฉพาะเสียงร้องของนักร้องชาย–หญิงที่ถ่ายทอดออกมาได้กินใจคนชอบฟังเพลงร้องมากเป็นพิเศษ จนบางคนถึงกับออกปากว่า หลอดสองเบอร์นี้เป็นอุปกรณ์ขยายเสียงที่ถ่ายทอดเสียงร้องได้ดีที่สุดในจำนวนอุปกรณ์ขยายเสียงทุกเทคโนโลยีที่มีอยู่ในวงการ เรียกว่าไม่มีทรานซิสเตอร์ประเภทไหนสู้ได้ว่างั้น.!

แต่ถ้าให้เทียบกัน เสียงกลาง (บีบวงโฟกัสกันที่เสียงร้องก็แล้วกัน) ของหลอด 300B กับ 805 ก็มีลักษณะต่างกัน คือหลอด 300B จะให้เสียงร้องที่มีความต่อเนื่องดี ถ่ายทอดรายละเอียดของลักษณะการขยับเลื่อนเสียงของนักร้องจากคำร้องหนึ่งไปถึงคำร้องถัดไปออกมาได้เคลียร์ชัดและเกี่ยวพันกันไปแบบไม่มีรอยต่อ ในขณะที่หลอดเบอร์ 805 จะให้การเน้นย้ำของอักขระแต่ละคำที่เข้มและจริงจังมากกว่า ประเด็นน่าจะเป็นเพราะกำลังขับของหลอดทั้งสองตัวมีความต่างกัน ซึ่งเอาหลอด 300B ไปขยายเอ๊าต์พุตให้กับแอมป์ซิงเกิ้ลเอ็นด์ไทรโอดจะได้กำลังขับไม่เกิน วัตต์ ในขณะที่หลอด 805 กับดีไซน์แบบเดียวกันจะสามารถรีดกำลังออกมาได้สูงถึง 50 วัตต์ และเมื่อเอาหลอด 300B มาขยายสัญญาณชั้นแรกในส่วนภาคไดร้เพื่อสร้างฟอร์มของเสียงที่มีบุคลิกของหลอด 300B ขึ้นมาก่อนจะส่งไปให้ 805 เพิ่มเติมความเข้มข้นและเน้นน้ำหนักมากขึ้น จึงทำให้เสียงร้องที่ได้จากการทำงานของหลอด 300B + 805 ออกมาดีเยี่ยม ออกมาครบทุกคุณสมบัติ คือได้ทั้งความต่อเนื่องลื่นไหลและการเน้นย้ำน้ำหนักเสียงที่ถ่ายทอดความอ่อน–แก่ของเสียงออกมาได้ตรงตามอารมณ์ของนักร้องทุกคำร้อง

ผมงี้รีบงัดเพลงร้องที่ฟังจนคุ้นหูออกมาลองฟังกับ LM-805IA หลายอัลบั้ม ซึ่งบอกเลยว่าไม่ต้องเพ่งกันให้เสียเวลา แค่พยางค์แรกที่ปล่อยออกมาจากปากของนักร้องผิวเข้มคนนี้ ทุกอย่างก็ชัดแจ้งแดงแจ๋กับสองหูของผม ใครว่า Aaron Neville เป็นนักร้องชายที่มีสไตล์การร้องที่ออดอ้อนยิ่งกว่านักร้องผู้หญิงบางคน.. ผมเห็นด้วย! เพราะแอมป์หลอดตัวนี้มันเปิดเผยให้เห็น (ได้ยิน) ถึงอาการจีบปากจีบคอของนักร้องคนนี้ออกมาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่เขาร้องเดี่ยวอย่าง ‘That’s The way She Loves’ แทรคที่ 7 ซึ่งเป็นแทรคที่ผมรู้สึกว่าฟังครั้งนี้ผ่าน LM-805IA แล้วมันออกมาไพเราะมากกว่าทุกครั้ง ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงช้า ที่ผ่านมาก็ว่าฟังเพราะมากแล้ว แต่คราวนี้ผมได้สัมผัสกับอารมณ์อ้อนของนักร้องคนนี้ที่ลงไปได้ “ลึก” กว่าเดิมมาก แอมป์หลอดตัวนี้มันเชื่อมโยงความรู้สึกของคำร้องจากประโยคหนึ่งไปถึงอีกประโยคหนึ่งออกมาได้อย่างกลมกลืนโดยไม่ทำให้อารมณ์สะดุด ซึ่งปกติแล้ว ผมชอบที่จะเปิดเนื้อร้องขณะฟังเพลงนั้นไปด้วย ยิ่งทำให้เข้าถึงอารมณ์ของเพลงได้มากขึ้นเพราะพอจะรู้ความหมายของเพลง และยิ่งได้เสียงร้องที่ชัดเจนของหลอด 300B + 805 เข้าไปอีก อารมณ์เพลงเลยมาเต็ม!

น่าแปลกที่ผมรู้สึกว่าคราวนี้เพลง ‘Close Your Eyes’ แทรคที่ 9 ในอัลบั้มนี้ที่ Aaron Neville ร้องคู่กับ Linda Ronstadt มันยาวกว่า 3 นาที 11 วิ. ของทุกทีที่ผมเคยฟัง.! ไม่รู้เป็นเพราะอะไร หรือจะเป็นเพราะคราวนี้ผมสามารถติดตามคำร้องของนักร้องทั้งสองคนไปได้ทุกคำอย่างครบถ้วน รับรู้ได้แม้กระทั่งก่อนจะปล่อยคำร้องออกมาไปจนถึงจังหวะที่คำร้องหลุดออกมาจากปากไป และรับรู้แม้กระทั่งพวกเขาใช้เทคนิคการร้องแบบไหนในการจบคำร้องนั้นลงไป ผมสัมผัสได้ถึงลักษณะการทอดถอนลมหายใจของนักร้องทั้งสองคนก่อนที่พวกเขาจะปล่อยคำร้องออกมาในแต่ละคำ นั่นกระมังที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเพลงนี้มันยาวกว่าทุกทีที่ผมเคยฟัง.. นี่แหละสเน่ห์ของแอมป์หลอดซิงเกิ้ลเอ็นด์ คลาสเอที่มีหลอดไดร้เบอร์ 300B ประกบกับหลอดเพาเวอร์เบอร์ 805 .!!

อัลบั้ม : Shostakovich – Symphony No.5 & Symphony No.9 (WAV-16/44.1)
ศิลปิน : Concertgebouw Orchestra, Bernard Haitink – conductor
สังกัด : Decca

ถ้าลำโพงกับแอมป์ไม่ถึง ฟังคลาสสิกไม่ได้อรรถรส.! คำกล่าวนี้เป็นจริง ช่วงหนึ่งของการทดสอบผมทดลองเซ็ตอัพ LM-805IA จับกับลำโพงตั้งพื้นรุ่น Sabrina X ของวิลสัน ออดิโอโดยใช้ roon + Audio-gd รุ่น R-8 (REVIEW) เป็นต้นทางในการทดลองฟังเพลงคลาสสิกที่ผมริปเป็นไฟล์สะสมเอาไว้จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่ผมยังไม่คุ้นเคย ตั้งใจไว้ว่าจะทยอยเอาออกมาฟังเมื่อซิสเต็มอยู่ในภาวะลงตัวและมีคุณภาพดี คราวนี้ผมลองเอาอัลบั้มชุดนี้มาลองฟัง เป็นอัลบั้มที่ผมริปมาจากแผ่นซีดีเวอร์ชั่น Boxset ของค่าย Decca เป็นงานซิมโฟนีสองชิ้นจากบทประพันธ์ของคีตะกวีชาวรัสเซีย Dmitri Shostakovich ซึ่งมีคนแนะนำผมว่าเป็นงานเพลงของช๊อสตาโควิคที่ควรจะลองฟัง

ผมยังไม่ได้ค้นข้อมูลของงานซิมโฟนีทั้งสองชิ้นของคีตะกวีชาวรัสเซียผู้นี้มาก่อน ซึ่งวิธีการของผม ผมจะอาศัยการทดลองฟังโดยไม่มีข้อมูลเพลงก่อนเป็นครั้งแรก เพื่อลองฟังดูว่าท่วงทำนองของเพลงกับลีลาการบรรเลงของวงมันดึงดูดความสนใจของผมมากแค่ไหน ถ้าฟังครั้งแรกโดยไม่มีข้อมูลแล้วรูสึกว่าลีลาของเพลงมีความน่าสนใจ ผมจะเริ่มค้นหาข้อมูลของเพลงนั้นและหยิบมาฟังซ้ำไปเรื่อยๆ เพื่อค่อยๆ ทำความคุ้นคยกับทำนองของเพลงไปทีละนิด ด้วยวิธีการนี้ ถ้าชุดเครื่องเสียงไม่ดีพอ ไม่สามารถขูดรีดรายละเอียดในเพลงนั้นออกมาได้หมดจดเพียงพอ มันก็ยากที่จะทำให้รู้สึกประทับใจสำหรับการทดลองฟังเพลงที่ไม่คุ้นเคยในครั้งแรก

หลังจากทดลองฟังอัลบั้มนี้ครั้งแรกกับซิสเต็มที่ผมเซ็ตอัพขึ้นมาตามรายละเอียดในย่อหน้าแรก ผมยอมรับว่าผมรู้สึกประทับใจและเริ่มชอบลีลาของซิมโฟนีสองบทนี้ แอมป์หลอดกับลำโพงคู่นี้ทำให้ผมสัมผัสได้ถึงความน่าสนใจของการเรียบเรียงที่มีลีลาไม่น่าเบื่อ ความสงัดกับความสามารถในการถ่ายทอดรายละเอียดช่วง Low Level ของแอมป์และลำโพงคู่นี้ทำให้ช่วงแผ่วของมูพเม้นต์ที่สี่ ‘Allegro non troppo’ ในงานซิมโฟนีหมายเลข 5 ไม่จมหายไปกับพื้นเสียง เพราะช่วงกลางๆ ของมูพเม้นต์นี้ผมยังคงได้ยินเสียงเครื่องดนตรีที่บรรเลงอย่างแผ่วเบาก่อนจะโหมกระหน่ำด้วยเสียงกลองทิมปานีและส่งทอดต่อไปให้กลุ่มเครื่องเป่าลมไม้รับช่วงต่อก่อนจะไปตบท้ายลงด้วยเสียงของเครื่องสาย

ความโปร่งใสของพื้นเสียงกับความต่อเนื่องของไดนามิกคอนทราสน์ที่แอมป์หลอดตัวนี้ถ่ายทอดออกมานับว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้ทุกเพลงที่ฟังมีรายละเอียดที่น่าสนใจติดตาม อีกทั้งลักษณะ “ความฉ่ำ” ของมวลบรรยากาศที่รายล้อมอยู่รอบๆ เสียงดนตรีทั้งหมดก็เป็นอีกคุณสมบัติเด่นของแอมป์หลอดตัวนี้ที่ช่วยทำให้เพลงที่ฟังมีความนวลเนียนและโปร่งกังวาน ไม่แห้งและไม่หยาบกร้าน อาจจะเป็นความเพี้ยนเฉพาะตัวของหลอดสุญญากาศ แต่มันก็ทำให้เพลงที่ฟังมีสเน่ห์มากขึ้น น่าฟังมากขึ้น

สรุป

แอมป์ตัวนี้อยู่กับผมนานแรมเดือน ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมสามารถปิดรีวิวนี้ได้นานแล้ว แต่เมื่อมีลำโพงผ่านเข้ามาให้ทดสอบ ผมก็อดที่จะเอาแอมป์ตัวนี้ไปทดลองฟังร่วมกับลำโพงเหล่านั้นไม่ได้ และทุกครั้งที่ลองฟังกับลำโพงคู่ไหน มันก็มีประเด็นให้ต้องพูดถึงอยู่เสมอ โดยเฉพาะตอนที่เอาแอมป์ตัวนี้ไปลองขับลำโพง Wilson Audio รุ่น Sabrina X ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว ต้องถือว่าแอมป์ตัวนี้แบกน้ำหนักลำโพงเอาไว้เยอะ เพราะลำโพงมันอยู่ในระดับชั้นที่สูงกว่าแอมป์ตัวนี้มาก แต่เสียงที่ออกมากลับไม่ได้แย่อย่างที่คาด โดยรวมออกมาในระดับที่พอฟังได้ นั่นแสดงถึงสมรรถนะที่เกินตัวของแอมป์หลอด Line Magnetic ตัวนี้

แต่ถ้าจะให้ได้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบจริงๆ จากลำโพงทั้ง 3 คู่ที่ผมมีโอกาสได้ลองฟังกับแอมป์ตัวนี้ ผมพบว่า LM-805IA ขับลำโพง The One ออกมาได้ดีมากๆ ในทุกด้าน ถือว่าเป็นคู่ขาที่เหมาะสมกันมาก แนะนำสำหรับคนที่เป็นเจ้าของลำโพง Totem Acoustic รุ่น Model 1 ทุกเวอร์ชั่นรวมถึง The One ที่เป็นเวอร์ชั่นลิมิเตทด้วย /


credit : https://www.allabout.in.th/review-line-magnetic-lm-805ia/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *